Tuesday, March 13, 2007

แบงก์ชาติทำอะไรกับค่าเงินบาท


แบงก์ชาติทำอะไรกับค่าเงินบาท
ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

1. ในช่วง 3-4 ปี ก่อนปี 2540 มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศเป็นปริมาณมาก ทำให้มีเงินดอลลาร์สหรัฐมาแลก เป็นเงินบาทมากขึ้น ส่งผลให้แบงก์ชาติมีเงินทุนสำรอง ระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการเงินทุน ที่จะรองรับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในช่วงปี 2539-2540 นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะ Hedge Fund เห็นว่าเงินบาทแข็งเกินกว่าความเป็นจริง กล่าวคือ ค่าเงินบาทไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน การส่งออกชะงัก การลงทุนในประเทศลดลงและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 8% ของ GDP โดยมีหนี้ระยะสั้นจากต่างประเทศมารองรับ ทำให้ความต้องการถือค่าเงินบาทมีน้อย เพราะกลัวจะขาดทุนจาก การอ่อนค่าของเงินบาท อีกทั้งต้องการทำกำไร จากการคาดการณ์ค่าเงินบาท จะอ่อนค่าลงในอนาคต จึงมีแรงเทขายบาทและซื้อดอลลาร์ กลับไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากตลาดปัจจุบัน (Spot) และตลาดล่วงหน้า (Forward)

แบงก์ชาติต้องแทรกแซง สร้างอุปสงค์ในเงินบาท โดยรับซื้อบาทขายดอลลาร์ ทั้งซื้อทันทีและซื้อล่วงหน้า ทำให้เงินทุนสำรองฯ ที่มีอยู่ลดลงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะลดลงอีก ในอนาคตเมื่อครบกำหนด ส่งมอบตามสัญญาล่วงหน้า นักลงทุนต่างชาติ นักค้าเงินต่างประเทศ นักเก็งกำไรและสถาบันการเงินไทยบางส่วนเก็งกำไร โดยการขายบาท (ซื้อดอลลาร์) ทั้งในตลาดปัจจุบันและตลาดล่วงหน้า แล้วค่อยซื้อบาทใหม่ในอนาคต เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลง
นอกจากนั้น ในด้านของนักลงทุน และนักเก็งกำไรต่างประเทศ ยังทำ Swap เพื่อประกันความเสี่ยงและเก็งกำไรจากการที่บาทจะมีค่าลดลงในอนาคต โดยเอาดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาท


โดยทำสัญญากับแบงก์ชาติว่าจะเอา ดอลลาร์กลับคืนไป ซึ่งเป็นวิธีการเก็งกำไรโดย การเปลี่ยนดอลลาร์เป็นเงินบาท และเอาเงินบาทไป Dump ขายทิ้ง การทำ Swap เช่นนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็น ธุรกรรมยืมเงินบาท ของนักเก็งกำไรที่จะได้เอาไปขาย Short หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การที่แบงก์ชาติยอมทำธุรกรรมนี้ จึงเป็นการให้ต่างชาติยืมเงินบาท ทำให้พวกเขามีกระสุน ที่จะเก็งกำไรยิ่งใหญ่โตขึ้น


จากเอกสารของ ศปร. ชี้ชัดว่า ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2540 ค่าเงินบาทถูกกด ดันอย่างต่อเนื่อง มีการโจมตีค่าเงินบาทหลายครั้งติดต่อกัน โดยนักเก็งกำไรได้โจมตีเงินบาทด้วยการซื้อ SWAP Sell-Buy USD/THB ควบคู่ไปด้วย นั่นคือการทำธุรกรรมใน การนำเงินดอลลาร์ซื้อเงินบาทโดยทำสัญญาว่า จะขายเงินบาท/ซื้อเงินเหรียญสหรัฐฯ คืนตามกำหนดเวลา นักเก็งกำไรทำเช่นนี้ เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากที่ค่าเงินบาทจะลดลงแล้ว จะเป็นการผลักดันให้อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (SWAP Premium) ในการซื้อขายสูงขึ้นด้วย


ในทางกลับกัน ในด้านของ แบงก์ชาติก็อยากที่จะทำ Swap ด้วย เพราะต้องการแทรกแซง โดยเพิ่มความต้องการเงินบาท ไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าลงเร็ว ในขณะเดียวกันก็จะได้ดอลลาร์มาใช้ก่อน (เปรียบเสมือนการยืมดอลลาร์แล้วค่อยใช้คืนในอนาคต) เพราะในขณะนั้นแบงก์ชาติเสียดอลลาร์ไปจำนวนมากจากการที่ต้องรับซื้อ บาท/ขายดอลลาร์ในตลาดปัจจุบันและตลาดล่วงหน้า ทำให้ฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศง่อนแง่น อีกทั้งแบงก์ชาติยังมีเงินดอลลาร์ที่ได้จากการทำ Swap ในขาแรกเพิ่มขึ้นไปใช้ป้องกันค่าเงิน โดยการซื้อบาทในตลาดปัจจุบันอีกด้วย


SWAP นั้นคือการขอซื้อเงินตราในวันนี้ ในราคานี้ โดยกำหนดวันที่จะส่งมอบเงินตราให้ในวันข้างหน้า ธุรกรรม SWAP รูปแบบที่แบงก์ชาติทำในช่วงก่อนวิกฤติการเงินเรียกว่า Buy-Sell SWAP USD/THB คือขณะที่นำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปซื้อเงินบาท ในทันทีนั้นก็จะนำเงินบาทซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ จากตลาด โดยทำ ธุรกรรม SWAP ที่มีเงื่อนไขสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดสัญญา (อาจเป็น 2 วัน หรือ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี) แบงก์ชาติจะต้องขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อเงินบาทคืน
การทำสัญญา SWAP ในขณะนั้น จะเป็นการอัดฉีดเงินบาทเข้าไปในระบบเพื่อลบล้าง ผลการโจมตีของนักเก็งกำไรเงินตราต่างประเทศ โดยที่ปริมาณเงินบาทในตลาดทันทีจะไม่ลดลง ดอกเบี้ยก็จะไม่แพงขึ้น และยังสามารถซ่อนผลกระทบของการปกป้องค่าเงิน บาท ต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ไม่ให้ปรากฏต่อตลาดได้ เพราะปริมาณเงินทุนสำรองจะไม่ลดลง แต่พันธะในการส่งเงินตราต่างประเทศ คืนกลับให้คู่สัญญาจะเกิดขึ้นในอนาคต และดอกเบี้ยจะยิ่งสูงขึ้น

แต่การนำธุรกรรม SWAP มาใช้ เป็นผลให้แบงก์ชาติสามารถดำเนินการปกป้องค่าเงินบาท โดยแทบไม่มีขีดจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น และทำให้ทุนสำรอง ระหว่างประเทศสุทธิลดลงอย่างมากจนถึงขั้นวิกฤติ หากแบงก์ชาติทบทวนนโยบายของตนเร็วขึ้น แบงก์ชาติก็จะไม่รีรอปรับค่าเงินบาท และจะไม่สร้างภาระผูกพัน จากธุรกรรม SWAP แต่การทำ SWAP เป็นการเปิดโอกาสให้แบงก์ชาติเลี่ยง การเผชิญปัญหาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเงินทุนสำรองเกือบหมดสิ้น

ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


ถือว่าเป็นความก้าวหน้าอีกระดับในแวดวง ราชการไทย ที่แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ กล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะออกมาวิพากย์วิจารณ์ การทำงานของอีกหน่วยราชการหนึ่ง ด้วยความเป็นกลางปราศจากอคติ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง นี่อาจเป็นคุณูปการที่เราได้รับ หลังจากเกิดเหตุการณ์ล่มสลายทางเศรษฐกิจ ในปี 2540

No comments:


Powered By Blogger