Sunday, December 10, 2006

ห้าประเด็นยอดฮิต : การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดย ดร.สมชัย สัจจพงษ์


ห้าประเด็นยอดฮิต : การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ดร.สมชัย สัจจพงศ์ หนังสือ ทะลุมิติ เศรษฐกิจการคลังไทย


วันนี้ผมจะลองมาตอบคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แล้วผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองมาช่วยกันใตร่ตรองว่าประเทศไทยสมควรดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไปหรือไม่
ซึ่งคำถามหรือประเด็นสำคัญที่มีการหยิบยกเพื่อต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจดังต่อไปนี้



  1. การแปรรูปโดยการนำหุ้นรัฐวิสาหกิจไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะเอื้อประโยชน์ต่อนักการเมืองและผู้มีอุปการะคุณของสถาบันการเงินหรือบริษัทหลักทรัพย์ฯ ผู้ซื้อหุ้นรายย่อยจะไม่สามารถซื้อหุ้นได้

  2. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะเป็นการให้อำนาจผูกขาดกับเอกชนซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

  3. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะเป็นการขายชาติโดยชาวต่างชาติจะเข้ามาเป็นเจ้าของทรัพย์สินของคนไทย

  4. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะทำให้ค่าน้ำและค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และ

  5. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะส่งผลให้มีการปลดพนักงานรัฐวิสาหกิจออกเป็นจำนวนมากรวมทั้งมีการลดสวัสดิการและค่าตอบแทนต่างๆ

ประเด็นและคำถามข้างต้นสามารถหาความชัดเจนและคำตอบได้จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ที่ได้ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ ซึ่งผมมีความเห็นว่าสมควรที่จะต้องนำหลักเกณฑ์เหล่านี้ชี้แจง ทำความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนคนไทยทุกคน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทราบอย่างทั่วถึง


หลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถตอบประเด็นที่ 1. ข้างต้นได้อย่างชัดเจนว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะมีขึ้นในช่วงต่อไปจะไม่มีการให้อภิสิทธิ์ในการจองหุ้นกับผู้มีอุปการะคุณที่เป็นลูกค้าสถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ฯ โดยนักการเมืองรวมทั้งผู้มีอุปการคุณทั้งหลายจะต้องดำเนินการจองหุ้นและได้มาซึ่งหุ้นโดยการสุ่มเสี่ยง (Random) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเฉกเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นรายย่อยและประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์นี้แท้ที่จริงแล้วได้ให้อภิสิทธิ์กับผู้ลงทุนรายย่อยที่เป็นคนไทยมากกว่าผู้ลงทุนรายใหญ่และนักการเมืองเสียอีก โดยผู้ลงทุนรายย่อยจะได้รับสิทธิ์ในการจองและได้รับการจัดสรรหุ้นตามความต้องการก่อนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หากมีการจัดสรรหุ้นตามความต้องการของผู้ลงทุนรายย่อยแล้วยังมีหุ้นเหลือจึงค่อยจัดสรรให้ผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นลำดับต่อไป หากมีการจัดสรรหุ้นให้ผู้ลงทุนรายย่อยจนหมด ผู้ลงทุนรายใหญ่ก็จะไม่ได้รับการจัดสรรหุ้นรัฐวิสาหกิจเลยแม้แต่หุ้นเดียว


สำหรับประเด็นที่ 2 ข้างต้นนั้น หลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของรัฐวิสาหกิจที่มีการแปลงสภาพโดยจะยังถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน แต่หากเป็นการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจประเภทไฟฟ้า และน้ำประปา รัฐบาลจะถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของทุนจดทะเบียน หลักเกณฑ์นี้ถือว่าเป็นหลักประกันการไม่เป็นการโอนอำนาจผูกขาดไปให้ภาคเอกชน ซึ่งหากมีการโอนอำนาจผูกขาดไปให้เอกชนรายใดรายหนึ่งจริง ผมมีความเห็นว่าประเทศชาติจะเสียหายและผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบอย่างแสนสาหัสมากกว่าอำนาจผูกขาดอยู่กับภาครัฐเสียอีก


ในส่วนของประเด็นที่ 3 ที่ระบุว่าการแปรรูปจะเป็นการขายชาติและขายทรัพย์สินให้ต่างชาติมาฮุบเอาไปแสวงหาประโยชน์นั้น หลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ได้ป้องกันจุดนี้โดยอนุญาตให้นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติสามารถถือหุ้นรัฐวิสาหกิจใดรัฐวิสาหกิจหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียนและสำหรับนักลงทุนต่างชาติ การถือหุ้นจะถือรวมกันทั้งหมดได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าอย่างไรก็ตามคนไทยก็ยังเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ในรัฐวิสาหกิจที่มีการแปลงสภาพในทุกกรณีอยู่ดี


สำหรับประเด็นที่ 4 ที่ระบุว่าการแปรรูปจะทำให้น้ำประปาและค่าไฟฟ้าแพงขึ้นนั้น ผมขอย้อนถามว่าแล้วที่ผ่านมาในอดีตที่ยังไม่มีการแปรรูป ค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าเคยปรับเพิ่มหรือไม่ คำตอบตามข้อเท็จจริงก็คือ เคยและก็เคยหลายครั้งหลายคราแล้วด้วยทั้งๆ ที่ไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจประเภทประปาและไฟฟ้าแต่อย่างใด ที่มีการเกรงว่าเอกชนหรือต่างชาติจะผูกขาดและเพิ่มค่าน้ำค่าไฟอย่างไม่เป็นธรรมก็เป็นไปไม่ได้แล้วเพราะรัฐบาลไทยและคนไทยยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถึงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของทุนจดทะเบียนอยู่ นอกจากนี้จากหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ระบุว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อมากำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้รวมทั้งทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย


ในส่วนประเด็นที่ 5 ที่มีการเกรงกันว่าเมื่อมีการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจแล้วจะมีการปลดพนักงานรัฐวิสาหกิจออกนั้น หลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ระบุชัดเจนว่าจะไม่มีการปลดพนักงานและจะคงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พนักงานได้รับก่อนการแปรรูป ซึ่งจริงๆแล้วประเด็นนี้ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะการแปรรูปนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยที่เพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เราคงต้องยอมรับว่ารัฐวิสาหกิจบางแห่งค่อนข้างเทอะทะ อุ้ยอ้าย แถมมีไขมันเยอะ ซึ่งการแปรรูปถูกคาดหวังว่าจะทำให้รัฐวิสาหกิจนั้นมีรูปร่างดี ไขมันส่วนเกินหมดไป ดังนั้นการที่ไม่สามารถลดจำนวนพนักงานส่วนเกินและไร้ประสิทธิภาพ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ได้มากเกินพอของพนักงานก็จะทำให้การแปรรูปไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก


จากที่ผมได้ยพยายามตอบประเด็น 5 ประเด็นยอดฮิตข้างต้นท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยกับผมว่าความหวั่นกลัวและความกังวลต่างๆ 5 ประการข้างต้นได้รับการจัดการและป้องกันแก้ไขแล้วจากหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ วันที่ 7 เมษายน 2547 ซึ่งถึงแม้บางคนจะมีความเห็นว่าไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่ดีที่สุด (First best solution) แต่เราคงต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์ไปเสียทุกอย่าง ดังนั้นหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่ถือว่าเป็น Second best solution ซึ่งผมมีความเห็นว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของคนไทยทุกคน สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปได้แก่ การเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ใช่เพียงเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านการแปรรูปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพวกพ้อง นักกาเรมืองหรือคำนึงถึงเพียงผลประโยชน์ส่วนตนของพนักงานที่ได้สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นประเด็นการแปรรูปที่แท้จริงตามความเห็นของผมอยู่ที่คำ 7 พยางค์ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องท่องเอาไว้ขึ้นใจได้แก่ ความจริงใจต่อประเทศชาติ

No comments:


Powered By Blogger