Monday, March 12, 2007

การเฉลิมฉลองของคนโง่ ดร.ไสว บุญมา


"The Celebration Of Fools" "การเฉลิมเฉลองของคนโง่" คือหนังสือที่ ดร.ทักษิณแนะนำให้ คณะรัฐมนตรีอ่าน จากส่วนหนึ่งของบทผนวก ท้ายเล่ม หนังสือคิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ เขียนโดย ดร.ไสว บุญมา ขอคัดมาบางส่วนดังนี้

ห้างสรรพสินค้า J C Penny ก่อตั้งเมื่อปี 2445 ด้วยน้ำพักน้ำแรงของหนุ่มบ้านนอกชื่อ James Cash Penny ณ ชนบทห่างไกลในมลรัฐไวโอมิ่ง ซึ่งเป็นรัฐเกษตรกรรมเล็กๆ มีพลเมืองไม่ถึง 1 แสนคน ในตอนนั้นและปัจจุบันนี้ก็ยังมีไม่ถึง 5 แสนคน James Cash Penny เป็นเสมียนในร้านขายของเล็กๆชื่อ Golden Rule หรือ กฏทอง เจ้าของร้านเห็นว่าเขามีหน่วยก้านดีและมีความขยันขันแข็งเป็นพิเศษ จึงเสนอให้เขาเป็นหุ้นส่วน และผู้จัดการของร้านที่ตั้งขึ้นใหม่ในอีกเมืองหนึ่ง ไม่นานต่อมาหนุ่ม James ก็ซื้อหุ้นส่วนในร้านทั้งหมดได้ และขยายกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน J C Penny กลายเป็นห้างสรรพสินค้าประกอบด้วยสาขาถึง 1,600 แห่ง กระจัดกระจายกันอยู่ในศูนย์การค้าทั่วสหรัฐ และในอีกหลายๆประเทศ ก่อนที่จะประสบมรสุมใหญ่จนเกือบล่มสลาย

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้มีผลมาจาก "กฏทอง" ของผู้ก่อตั้งซึ่งประกอบด้วยฐานทางจรรยาบรรณหลายข้อ เช่นความมัธยัสถ์ ความซื่อสัตย์ ความมีเกียรติ ความเชื่อมั่น ความร่วมมือ ความเชื่อถือได้ การให้บริการ ความมีเกียรติ ความเชื่อมั่น ความร่วมมือ ความเชื่อถือได้ การให้บริการ และความสนับสนุนต่อชุมชน เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ยึดมั่นในกฏของ "การสร้างกิจการบนฐานของความถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ใช่บนฐานของการยึดความสะดวกเป็นที่ตั้ง" ความตกต่ำของห้างสรรพสินค้าอเมริกันอันยิ่งใหญ่ นี้มีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการละทิ้ง "กฏทอง" ของผู้บริหารรุ่นใหม่ซึ่งโลภมากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เห็นแก่ความสะดวกมากกว่าความถูกต้องและเป็นธรรม และโอหังจนลูกค้าหันไปหาร้านอื่น

ท่านนายกฯ ต้องการให้รัฐมนตรีอ่านเพื่อจะได้ตระหนักว่าความเสื่อมของบริษัทยักษ์ใหญ่นั้นเกิดจากการเลิกเอาใจลูกค้า ฉะนั้นรัฐบาลต้องเอาใจประชาชน ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นเสมือนลูกค้าของรัฐบาล ตอนนี้จะมีรัฐมนตรีกี่คนไดอ่านหนังสือหรือนำแนวคิดและบทเรียนที่ได้ไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างไรยังไม่เป็นที่ปรากฏ แต่เมื่อดูเนื้อหาสาระของหนังสือแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาน่าจะคล้ายกับที่เกิดขึ้นหลังท่านนายกฯ แนะนำให้รัฐมนตรีอ่านหนังสืออีกหลายเล่ม นั่นคือไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะนโยบายของรัฐบาลและพฤติกรรมของผู้อยู่ในคณะรัฐมนตรี มักตรงข้ามกับแนวคิดและบทเรียนซึ่งหนังสือเหล่านั้นบ่งบอก ขอยกตัวอย่างจากหนังสือเล่มนี้

ความัธยัสถ์เป็นหนึ่งในกฏสำคัญของการก่อร่างสร้างตัวของ James Cash Penny คนได้รับความสำเร็จอย่างสูงส่ง มีผู้ใดในคณะรัฐมนตรีที่เปล่งคำนี้ออกมาเพื่อชักชวนประชาชนให้มัธยัสถ์บ้าง ? ตรงข้ามนโยบายของรัฐบาลมุ่งกระตุ้นให้คนใช้จ่ายอย่างไม่อั้น พร้อมกับพยายามผลักดันให้ประชาชนกู้หนี้ยืมสินทั้งที่ประชาชนจำนวนมากมีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้ว เพราะอะไร ? เพราะรัฐบาลและผู้ใกล้ชิดส่วนมากทำธุรกิจซึ่งจะสร้างรายได้ให้ตนบนฐานของการใช้จ่ายแบบเกินตัวนั้นใช่หรือไม่ ? นี่แหละคือรูปหนึ่งของความฉ้อฉลทางนโยบายซึ่งใครต่อใครกำลังกล่าวถึง

การที่รัฐมนตรีทำธุรกิจกันเกือบถ้วนหน้าและสร้างความร่ำรวยอย่างไม่หยุดยั้งนั้น อยู่ในแนวเดียวกันกับความโลภแบบไม่สิ้นสุดของผู้บริหารยุคใหม่ของ J C Penny ความโลภเป็นการหักหลังผู้ก่อตั้งบริษัทอย่างร้ายกาจ และเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทตกต่ำ เป็นไปได้ไหมว่าเมืองไทยจะตกต่ำเพราะรัฐมนตรียังมีความโลภสูงและไม่เลิกทำธุรกิจอย่างเด็ดขาด อันเป็นการหักหลังอุดมการณ์ประชาธิปไตย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ?

J C Penny สร้างกิจการบนฐานของความถูกต้อง ไม่ใช่บนฐานของการยึดความสะดวกเป็นที่ตั้ง ผู้บริหารในยุคหลังละทิ้งหลักการนี้ จึงทำให้ J C Penny ตกต่ำ นโยบายแนวประชานิยมจำนวนมากเกิดจากฐานของการยึดความสะดวกทางการเมืองเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ความถูกต้องและเป็นธรรมทั้งที่ถูกทักท้วงว่า นโยบายแนวนี้จะมีผลร้ายจนสร้างความล่มสลายแบบเดียวกับบางประเทศในละตินอเมริกา รัฐบาลก็ยังคงดันทุรังทำต่อไป นโยบายแนวนี้ไม่ใช่เพื่อบริการประชาชนหรือ "ลูกค้า" ในสายตารัฐบาล แต่เป็นการมอมเมาประชาชนผู้ไม่เข้าใจว่า ผลพวกที่ตามมานั้นอาจจะร้ายแรงถึงขนาดทำให้ประเทศชาติล่มจม

ความโอหังของผู้บริหารเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งพา J C Penny ไปสู่ความเสื่อมถอยความโอหังกับความเชื่อมั่นในตัวเองนั้นเชื่อมต่อกันอยู่อย่างยากที่จะแยกออกจากกัน ความเชื่อมั่นมีประโยชน์ซึ่ง James Cash Penny ก็มีอยู่มาก แต่เมื่อความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนข้ามเส้นไปเป็นความโอหัง ผลร้ายจะตามมาทันที ในช่วงนี้ท่านนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าโอหังและไม่ยอมฟังคนอื่นเพิ่มขึ้นทุกวัน หากความเชื่อมั่นในตัวเองของท่านข้ามเส้นไปเป็นความโอหังจริงแล้ว เป็นไปได้ไหมว่าเมืองไทยจะตกต่ำเหมือน J C Penny

พูดถึงการเฉลิมฉลองของคนโง่ ประเด็นอาจจะเป็นว่าใครบ้างที่ "โง่" ? ผมคงเป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น เพราะกำลังแกว่งกระบาลหากระบอง หรือแกว่งเท้าหาเสี้ยน แต่ผมโง่ไม่เป็นไร ขออย่าให้คนไทยส่วนมากโง่ก็แล้วกัน โง่เพราะหลงเฉลิมฉลองอย่างดีอกดีใจกับผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยที่รัฐบาลหยิบยื่นให้จากนโยบายแนวประชานิยม โดยไม่รู้ว่ามันจะพาประเทศชาติไปสู่ความล่มจมในอนาคต

ก่อนอื่นขอติงเรื่อง นามสกุลก่อนเพราะท่านนั้นสะกดผิด ที่ถูกต้องคือ Penney เสียดายที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด แต่เท่าที่ดูจากประวัติของเขาผู้นี้ เป็นสมาชิกกลุ่ม อนุรักษ์นิยม อั้งยี่ Freemason ก็คงพอจินตนาการไปได้ถึง สายสัมพันธ์ทางธุรกิจของเขา ตลอดจนแนวความคิดในการบริหารจัดการ ภายในองค์กร แต่ก็ขอเข้าใจและเห็นด้วยตามที่ ดร.ไสวได้กล่าวสรุปมา

ถ้าดร.ไสว เข้าใจถึงหลักแห่งธรรม ถึงวัฏจักรของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ก็คงจะพอเข้าใจได้ ส่วนจะเสื่อมลงเพราะเหตุใดนั้น ก็แล้วแต่จะหาเหตุผลมาสนับสนุน โน้มน้าว ให้ผู้อ่านเห็นชอบด้วยกับธงที่ผู้เขียนได้ตั้งเอาไว้ ส่วนจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่แน่ใจ และการที่ดร.ไสว หยิบเรื่องนี้มาโยงกับ นโยบายประชานิยม พาลเลยไปถึง ความล่มสลายของ ประเทศในแถบละตินอเมริกา ซึ่งน่าจะหมายถึง อาเจนติน่า ประเทศซึ่งถูกนำมาหาใช้หากินโจมตี นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณมากที่สุด เจ้าของประเทศเขาจะรู้สึกอย่างไรไม่ทราบได้ ที่เอาประเทศเขามาปู้ยี่ปู้ยำ เพียงเพื่อที่จะดิสเครดิตบุคคลเป้าหมายในอีกประเทศหนึ่ง ในส่วนท้ายของบทดังกล่าว พยายามที่จะกล่าวหาว่า ประชาชนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ว่าเป็นพวกคนโลภ เห็นแก่ได้ โง่เขลาเบาปัญญา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหา ที่เป็นมาตรฐานไปเสียแล้ว ประชาชนเหล่านั้นคงจะชินชา ทำได้แต่เพียงมองตาปริบๆ หมดโอกาสที่จะตอบโต้ ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ิ มันห่างไกลกันเสียเหลือเกิน

บทความในหนังสือเล่มนี้ เขียนขึ้นก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้นก่อนที่จะมีรัฐบาลชั่วคราว เข้ามาบริหารประเทศ ด้วยนโยบาย เศรษฐกิจพอเพียง สวนทางกับ ทักษิโณมิคส์ อย่างกลับตาลปัตร แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับยังคงนโยบายประชานิยมทั้งหมด ของรัฐบาลทักษิณเอาไว้ แสดงว่า ท้าทาย ไม่เห็นถึง ภัยอันตราย ของนโยบายประชานิยม ไม่เกรงกลัวว่า ประเทศชาติจะล่มสลาย ตรงกันข้าม รัฐบาลเศรษฐกิจพอเพียง กลับสร้างความเสียหาย ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนัก ด้วยมาตรการวิกลจริตมากมาย ที่ออกมาเป็นระลอก จนปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า เสียหายย่อยยับขนาดไหน และจะส่งผลเสียให้กับประเทศในระยะยาวนาน เพียงใด

No comments:


Powered By Blogger