Saturday, December 16, 2006

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (1): ส.ศิวรักษ์


มีคนพูดมากับข้าพเจ้าเป็นส่วนตัวและเขียนไปลงหนังสือพิมพ์อื่น
ว่านิตยสารฉบับนี้ไม่ให้ความสนใจกับนักเขียนใหญ่ๆ บางท่านเช่น
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนที่จะตอบรับหรือปฏิเสธคำกล่าวหานั้น
ข้าพเจ้าใคร่จะขอทบทวนความจำกับสมาชิก ปริทัศน์ เสียก่อน
ฉบับปฐมฤกษ์เราได้เอ่ยชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไว้ในภาคภาษาไทย
(หน้า 69 และหน้า 91) และได้นำเรื่องที่ท่านผู้นั้นแปลร่วมกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
มาลงไว้ในภาคภาษาอังกฤษ (หน้า 85-88) แต่ข้อความที่นำมาลงทั้งสองภาษานี้ มีอนุสนธิต่อมายืดยาว
จนเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าผู้เป็นบรรณาธิการหมดศรัทธาที่จะไปรบกวนขอเรื่องหรือนำผลงานของท่านมาวิจารณ์ได้อีก ข้าพเจ้าจะขอสาธยายขยายให้ทราบต้นสายปลายเหตุย่อๆไว้ดังนี้ คือเรื่องภาษาอังกฤษที่เรานำมาลงพิมพ์นั้น เป็นเรื่องเนืองด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหม่อมราชวงศ์สองพี่น้องในสกุลปราโมช ที่เอ่ยนามมาแล้วนั้น เป็นผู้ร่วมกันแปลและเรียบเรียง เพื่อช่วยให้ชาวต่างประเทสรู้จักพระเธียรมหาราชเจ้ารัชกาลที่สี่ได้ถูกต้องถ่องแท้ ไม่ให้หลงผิดตามยายแอนนาหรือบทละครอเมริกัน บทหนังฮอลลีวู้ดไปข้าพเจ้าเห็นเป็นกรณียกิจอันน่าสรรเสริญ และควรสนับสนุน

ความจริงคำแปลนี้เห็นพิมพ์อันโรเนียวแจกไปตามห้องสมุมมานานแล้ว ึถึงกับฝรั่งบางคนคัดไปลงหนังสือของคนตอนละยาวๆ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าสำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์ตีพิมพ์ขึ้นก็จะเป็นเกียรติเป็นศรี จึงมีจดหมายไปขออนุญาติต่อท่านผู้แปลทั้งสอง พอวันรุ่งขึ้นก็ได้รับจดหมายตอบจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ว่าท่านยินดีให้จัดพิมพ์ได้ แต่ควรได้รับอนุญาตจากน้องชายท่านด้วย ข้าพเจ้ารอคำตอบจากหม่อมราชวงศ์น้องเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร ต่อภายหลังท่านจึงพูดฝากมาว่า ข้าพเจ้าทำตนเป็นคนอังกฤษ เรื่องเพียงเท่านี้ก็ต้องเขียนจดหมายไป ไหนๆ ก็รู้จักกันมาก่อน เพียงยกหูโทรศัพท์ขึ้นพูดตรงถึงท่านก็ได้ ท่านไม่รังเกียรติ ยินดีอนุญาต แต่ท่านไม่มีเลขานุการที่จะดีดพิมพ์จดหมายตอบกลับมา ข้าพเจ้าได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ เห็นว่าท่านเอ็นดู แต่ก็ไม่นึกเลยว่าการที่ตนเสงี่ยมเจียมตัวแบบไทยๆ ไม่ยอมโทรศัพท์ถึงผู้หลักผู้ใหญ่ กลับถูกหาว่าทำเป็นฝรั่ง หากข้าพเจ้าจู่ๆโทรศัพท์ถึงก็จะกลาย เป็นทะลึ่ง ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ทำตนเป็นฝรั่งไปอีก ความจริง ผู้ที่ทำการด้านสำนักพิมพ์ย่อมควรมีข้อตกลง กับผู้เขียนผู้แปลเป็นลายลักษณ์อักษร ยิ่งข้าพเจ้าเป็นคนที่ร่ำเรีนยมาทางกฏบัตรกฏหมาย ยิ่งน่าจะ เข้มงวดในเรื่องนี้ แต่ก็เปล่า ข้าพเจ้าคงทำงานอย่างไทยๆ เชื่อหน้าเชื่อคำพูดกันอย่างง่ายๆ กระนั้นเอง ยิ่งท่านผู้ใหญ่อนญาตเรื่องลิขสิทธิ์เช่นนี้ด้วยแล้ว ก็เลยยิ่งดีใจ ได้คัดตัดตอนมาลง ปริทัศน์ ฉบับแรก แถลงไว้ท้ายเรื่องด้วยว่าจะตีพิมพ์เป็นเล่มต่อไป (เชิงอรรถหน้า 88)

แต่แล้ววันดี คืนดี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็มีจดหมายมาถึงข้าพเจ้า ว่าที่เดิมอนุญาตให้จัดพิมพ์เรื่องแปลของท่านนั้นบัดนี้ สำนักพิมพ์ที่สิงคโปร์เขาจะพิมพ์ขึ้นมาแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าระงับการพิมพ์ทางนี้ ทั้งๆที่ข้าพเจ้า ให้เริ่มเรียงพิมพ์ไว้บ้างแล้ว แต่ด้วยความเคารพต่อเจ้าของต้นฉบับ ข้าพเจ้าก็ให้ถอนตัวออกเสีย เพราะไหนๆ หนังสือนี้ก็จะได้ตีพิมพ์ในต่างประเทศ ซึ่งย่อมจะต้องดีกว่าผลิตขึ้นในประเทศอยู่เอง (แต่แล้วจนบัดนี้ เรื่องดังกล่าว ก็หาได้รับการตีพิมพ์ไม่) ส่วนเรื่องภาษาไทยที่ข้าพเจ้าเอ่ยถึงท่านสิ กลับกลายเป็นเรื่องเอะอะใหญ่โต อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเมื่อคำนึงดูว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคย เป็นผู้วิจารณ์คนอื่นมามาก บางทีก็ด้วยอคติ บางทีก็ด้วยวิจารณญาน ข้าพเจ้าวิจารณ์ท่านเพียง บรรทัดเดียว ไม่น่าที่ท่านจะโกรธขึ้งถึงกับใช้คำบริภาษข้าพเจ้าแรงๆเลย และคำวิจารณ์ของข้าพเจ้าทั้ง บทความ(หน้า 58-70) ก็ได้ใช้ภาษาอย่างระมัดระวัง และยังพยายามให้เข้าหลักพุทธภาษิตที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
อัญเชิญลงในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ประจำทุกวันเสียด้วย ความจริง อนุสนธิจากเรื่องในหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับแรก ดูจะเป็นปลายเหตุที่ทำให้ ข้าพเจ้าขาดความสัมพันธ์กับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้นมา ถ้าจะใช้คำอุปมาที ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ชอบใช้ ก็เปรียบเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ใส่บนหลังอูฐ นั่นเอง ฉะนั้นจึงสมควรจะเล่า

ประเดิมเริ่มแรกแต่ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไว้เสียด้วยแท้ที่จริง ข้าพเจ้าก็เหมือนคนไทยคนอื่นๆ เป็นอันมากที่เกิดมาในประเทศสยามนี้ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สมัยเมื่อเปลี่ยนแปลง การปกครองใหม่ๆ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรจำไม่ได้ มาจำความได้เอาก็เมื่อบ้านเมืองมีทีท่าไปในทาง เผด็จการยิ่งขึ้นทุกที มีการจับกุมผู้คนกันไม่หยุด แม้ข้าพเจ้าจะเกิดอยู่ในครอบครัวคนสามัญ อันไม่เกี่ยวข้องกับเจ้านายสมัยก่อนหรือผู้มีอำนาจในสมัยหลัง แต่พวกเราที่บ้านก็พูดกันมาก ว่าบ้านเมืองเลวร้ายลงไปทุกที ยิ่งข้าพเจ้าโตขึ้น ยิ่งเห็นวิปริต ด้วยทันเห็นระบบซ้อม ระบบยิงทิ้ง ระบบศาลทหาร จนมาถึงระบบเชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย มาลานำไทย บังคับให้เลิกนุ่งผ้าถุง ให้เลิกกินหมาก กับแนะให้จูบเมียก่อนไปทำงาน ฯลฯ แต่แล้วก็มาถึงสมัยพรรคประชาธิปัตย์มาปลดแอก พรรคนี้จะ ดีเลวอย่างไร ข้าพเจ้าจะไม่พูดถึง แต่ต้องขอยอมรับว่า เมื่อจัดตั้งรัฐบาลและส่งสมาชิกออกสมัคร รับเลือกตั้ง สมัยแรกๆ มีคนดีมีชื่อเสียงเกียรติคุณแทบทั้งนั้น ในจำนวนนี้มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

แม้ข้าพเจ้าจะไม่เคยมีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน (เพราะตอนที่มีอายุถึง เขาก็เลิก
วิธีการปกครองแบบลงคะแนนเสียแล้ว) แต่ก็สนใจเรื่องเลือกตั้งมาแต่สมัย ณ เณร ตาละลักษณ์
สมัครมาแล้ว ยิ่งมาสมัยหลังนี้ ยิ่งตื่นเต้นและเอาใจใส่มาก ติดตามข่าว ส.ส. ของเราในสภา ยังกับว่า แต่ละคนเป็นญาติมิตร โดยเฉพาะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้มีบทบาทยิ่งกว่าคนอื่นยิ่งเอาใจใส่เป็นพิเศษ
ที่ท่านลาออกจากสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับ ร.ท.สัมพันธ์ ขันธชวนะ นั้น พวกเราเห็นว่าท่านมีอุดมการณ์
กล้าแข็งมาก(แต่ภายหลังท่านรับเป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยอัตราเงินเดือนมากกว่าเก่าเป็นจตุรคูณนั้น
แม้ท่านจะอธิบายอย่างไร ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจจนบัดนี้) ถึงท่านจะย้ายค่ายไปเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล
ที่หัวหน้าเคยเป็นเผด็จการมาก่อน ข้าพเจ้าก็ยังเชื่อความบริสุทธิ์ใจของท่าน
ยิ่งท่านเขียนอธิบายภายหลัง(เพราะเหตุใดข้าพเจ้าจึงอาสาเป็นรัฐมนตรี) ยิ่งเห็นใจท่านมากขึ้น
ครั้นเมื่อท่านมาออกหนังสือพิมพ์ด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็เลยติดท่าน
ทั้งฝีปากความคิด และเรื่องยาวที่ลงติดต่อกันเป็นประจำไม่ว่าท่านจะเป็น ฮวนนั้ง โจโฉนายกตลอดกาล
หลายชีวิต หรือสี่แผ่นดิน เวลานั้นการปาฐกถา โต้วาที ยังไม่มีบ่อยอย่างสมัยนี้ วิทยุก็ยังไม่เกลื่อน
โทรภาพก็ยังไม่มี สัมมนายังไม่จัดกัน ฉะนั้นไม่ว่าท่านจะไปพูดที่ไหน ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ วชิราวุธ
วัดบวนนิเวศ ฯลฯ ข้าพเจ้าเป็นต้องติดตามไปฟัง ข้าพเจ้านิยมชมชอบว่า ท่านเลือกเอาคนหนุ่มๆ มาร่วม
ทำงานด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่าอนาคตกิจการหนังสือพิมพ์ของท่านจะเจริญรุ่งโรจน์ ไปช้าๆ ไปอย่างผู้ดี
ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านจะเป็นคนเดียวที่อยู่นอกสังเวียนราชการ ที่นำประชาชนได้ทั้งชาติและท่านจะ
สามารถติดต่อกับนานาประเทศได้อย่างเสมอบ่า เสมอไหล่ เวลานั้นข้าพเจ้าฝันหวาน ว่าข้าพเจ้า
มีโครงการอะไรใหม่ ข้าพเจ้าควรต้องไปปรึกษา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก่อน ถ้าท่านเห็นดีด้วย งานนั้นเป็น
ต้องสำเร็จแน่ๆ ความฝันอย่างนี้ เด็กรุ่นหลังข้าพเจ้ายังฝันอยู่ก็คงยังมีอีกมาก และฝรั่งมังค่า
ก็เคยนึกกันมาคล้ายๆข้าพเจ้าเหมือนกัน บางคนถึงกับว่า น่าที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะนำเอเซียอาคเนย์
ได้ทั้งแถบ ในด้านความคิดอ่าน ที่พวกเราผิดหวังนั้น จะโทษ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฝ่ายเดียว
หาได้ไม่ เพราะเราไปหวังเอากับท่านมากเกินไปต่างหาก

แม้เมื่อข้าพเจ้าออกไปเรียนหนังสือที่อังกฤษแล้วข้าพเจ้าก็ยังติดตามงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชอยู่
ถึงจะมีข่าวอกุศลเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวท่าน ข้าพเจ้าก็แก้แทนและกลับขอร้องให้คนอื่นเข้าใจท่าน
ว่าท่านไม่ใช่จะเป็นคนที่คบได้ง่ายๆ เพราะชีวิตส่วนตัวไม่ราบรื่น ข้าพเจ้าถือตัวว่าเป็น "แฟน" เต็มที่
อวดอ้างว่ารู้และเข้าใจงานตลอดหมด จนมองเห็นปรัชญาชีวิตของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในผลงาน
และเห็นต่อไปด้วยว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แฝงตนเองอยู่ในตัวละครตัวไหนบ้าง และเมื่ออินทรีย์แก่กล้าขึ้น
จับผิดข้อความของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้บ้าง ให้รู้สึกอิ่มเอมเปรมใจเสียจริงๆ เพื่อนที่อังกฤษ
บางคนเห็นว่า ข้าพเจ้าออกจะนิยมยกย่อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มากเกินไป เตือนให้รู้ว่าเรื่อง
หลายชีวิต มีเค้ามาจากไหน ยิ่ง ไผ่แดง ที่ออกมาภายหลัง ยิ่งชัดหนักขึ้น ข้าพเจ้าก็แก้ว่า ที่มาดั้งเดิม
ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ตัวละครและชีวิตจิตใจเป็นไทยแค่ไหนต่างหาก มาตอนนี้ข้าพเจ้ายอมรับว่า
ไม่ชอบ ไผ่แดง แต่ยังยกย่อง หลายชีวิต อยู่ แม้กระนั้นก็ออกตะขิดตะขวงใจ ที่ท่านไม่ยอมบอก
ให้คนไทยรู้ว่าได้ความคิดริเริ่มมาจากไหน นี่จะอมภูมิหรือปิดบังวิชากัน หรืออย่างไรนี่ จะอย่างไร
ก็ตาม คนที่เสกแม่พลอยขึ้นมาได้ ควรได้รับอภัยด้วยประการทั้งปวง อย่างน้อยข้าพเจ้าก็เคยใช้
มนต์บทนี้ ข่มเวลาโกรธ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ขึ้นมา

จนข้าพเจ้าเรียนจบมหาวิทยาลับ เข้าทำงานบีบีซีแล้วความนิยมชมชอบในตัว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ก็ยังไม่เสื่อมถอย ทั้งๆที่ยังไม่เคยพบปะเสวนาด้วยเลย เพื่อนผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ด้วยกัน
เตือนว่า ถ้าได้รู้จักกันขั้นพูดคุยด้วยเมื่อไหร่ เมื่อนั้นข้าพเจ้าจะเสื่อมความนิยม ท่านว่าคุณคึกฤทธิ์
ดีที่เขียนให้อ่าน พูดให้มหาชนฟัง ถ้าพูดกันสองต่อสองแล้ว ท่านดูถูกคู่สนทนาชนิดทนได้ยาก
ข้าพเจ้าก็ได้แต่ฟังหูไว้หู นึกเสียว่าเขาคนรุ่นเดียวกัน คงอิจฉากันอย่างเรา ท่านจะข่มบ้าง ดูถูกบ้าง
ก็ช่างปะไร และแล้วโอกาสที่จะได้พบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็มาถึง เวลานั้น บีบีซี เลิกกิจการไปแล้ว
และข้าพเจ้าก็ไปหากินทางสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนแล้ว แต่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จ
ประเทศอังกฤษเป็นทางราชการ เขาก็เลยเปิดรายการพิเศษ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน
เขามาชวนข้าพเจ้ากลับไปทำงานชั่วคราว และเขาเชิญ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาร่วมพูดวิทยุกับเรา
ประการแรก ข้าพเจ้าจะต้องไปรับท่านที่ท่าเรือบินในนามของบีบีซี แต่ท่านเป็นคนใหญ่คนโต
เดินทางล่วงหน้ามาก่อนขบวนเสด็จ เอกอัครราชทูตออกไปรับเปิดห้องวีไอพีให้ ข้าพเจ้าก็เลยไม่ต้อง
พูดจาอะไรด้วยมาก ต่อไปถึงที่ทำงานแล้วจึงค่อยเจรจาหารือกัน ตอนนั้นหนังสือพิมพ์
ไทมส์ เพิ่งลงบทความเกี่ยวกับ "คนสำคัญในเอเซีย ที่พึงเอาใจใส่" มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
รวมอยู่ในนั้นด้วยคน 1 ฝรั่งที่บีบีซีเอาข้อความเกี่ยวกับตัวท่านยื่นให้ดู กลับถูกหัวเราะเยาะไส่ว่ารู้แล้ว
ฉันมันคนสำคัญหนึ่งในยี่สิบแปด ครั้นข้าพเจ้าคุยด้วยและว่าอาจารย์ฝรั่งที่มหาวิทยาลัยอยากเชิญ
ไปกินข้าวกลางวัน ก็รับเชิญและพูดดีตอนกินอาหารกันวันนั้นก็แปลก เราไปกินที่ร้านฝรั่งเศสใน
โซโห มีพวกกระทรวงต่างประเทศ 2 คน คนหนังสือพิมพ์ เดลี่เทเลกราฟ คน 1 เจ้าหน้าที่สมาคม
วิเทศกรณี(แชตแทมเฮาส์) คน 1 เจ้าภาพ แขกผู้มีเกียรติ แล้วก็ข้าพเจ้า ปรากฏว่าแขกผู้มีเกียรติ
คุยคนเดียว ด้วยเสียงที่โต๊ะอื่นๆ ในร้านก็ได้ยินถนัด เรื่องที่คุยนั้น ข้าพเจ้ายังจำได้ถนัดจนทุกวันนี้
ไม่มีใครค้าน ไม่มีใครเถียง มีแต่เสริมเติมต่อ ดูแขกผู้มีเกียรติจะพอใจมาก ข้าพเจ้านั้นเห็นว่าท่านแสดง
การละเล่นอะไรสักอย่างมากกว่าคุยธรรมดา ครั้นออกจากร้านอาหารแล้ว ต้องนั่งรถไปพูดวิทยุ
กันสองต่อสอง ข้าพเจ้าจึงตั้งปัญหาขึ้นในข้อที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับท่าน ในเรื่องเครื่องแต่งกาย
ของไทย ท่านว่าไทยดีกว่าใครหมดในเอเซีย อยากแต่งฝรั่งก็แต่ง แต่งไทยก็แต่ง ผิดกับพม่า
ลาว เขมร ซึ่งชาตินิยมจัด จนไม่ยอมแต่งเป็นเพศภาษาอื่น ข้าพเจ้าเห็นว่าเราเหลวกว่าเขาหมด
ที่ท่านว่าใครแต่งไทยได้นั้น ไม่จริง อย่างท่านก็ได้สิ แต่คนส่วนมาก ถึงอยากนุ่งผ้าม่วงอีก
ก็ไม่กล้า เพราะถูกบังคับให้เลิกมาจนคนหมดคนนุ่งแล้ว เว้นแต่เจ้านายบางองค์ ก็ได้แต่แต่ง
ฝรั่งตามๆ กันไปเท่านั้นเอง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าทุเรศมาก ท่านตอบข้าพเจ้าด้วยดี ไม่มีอาการ
แสดงเหลืออยู่เลย คุยด้วยอย่างสุภาพ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ถ้า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เลิกเล่นละคอนเสียได้
จะเป็นผู้ใหญที่เมตตากรุณาต่อเด็กมาก แต่พอมีคนดูเท่านั้น ท่านก็ต้องเล่นไปตามเพลงอีก
ก็จริงอย่างว่า พอถึงบีบีซีเท่านั้นเอง มีคนอยู่ไม่ถึง 10 คน ท่านก็เอาบาตรใหญ่เข้าข่มข้าพเจ้า
เสียแล้ว ทั้งๆที่พูดด้วยดีมาโดยตลอด เรื่องมีอยู่ว่า เพื่อนคนไทยอีกคนเขียนราชาศัพท์ยังไม่ค่อย
คล่อง เขานึกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า The King's acitvities ก็ไม่รู้จะใช้คำอะไรดี ข้าพเจ้าก็พูด
โพล่งออกไปว่าน่าจะใช้ "พระราชกรณียกิจ" ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กลับสวนออกมาทันควันว่า
"การเสด็จพระราชดำเนิน" ดีกว่า แน่ละ เขาต้องเอาคำของผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง ยิ่งกว่าคำของ
เพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่ข้าพเจ้ายังเชื่ออยู่จนบัดนี้ว่า คำของข้าพเจ้าถูกกว่า เพราะพระราชกรณียกิจ
รวมทั้งขณะประทับ สรง เสวย แม้จนบรรทมด้วยก็ได้ ตราบใดที่ยังเสด็จอยู่อังกฤษ
ก็เท่ากับทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนั้นเอง "เสด็จพระราชดำเนิน" จะรวมกริยาข้างต้นนั้น
ไม่ได้เลยเป็นอันขาด ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าเคยพบผู้ใหญ่บางคนมาแล้ว ที่ดีๆนั้น ข้าพเจ้าไม่เคย
เห็นท่านหักล้างเด็ก ถ้าเห็นว่าเด็กผิด ก็บอกให้เบาๆ ให้เหตุผลว่าทำไมของท่านดีกว่า
นี่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ไว้หน้ากันเลย ทั้งๆที่ของตัวก็ด้วยกว่าเสียซ้ำ ครั้งถึงเวลาพูดกระจายเสียง
เราแต่ละคนพูดกันเป็นงานเป็นการ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นต้นว่า ป่านนี้กรุงเทพฯ ก็สองทุ่ม
เศษแล้ว ท่านผู้ฟังคงนั่งตบยุงกันให้วุ่น ที่นี่ไม่มียุงครับ ฯลฯ พวกเราฟังแล้วก็เห็นแปลกมาก
ถ้านี่เป็นโจ๊กแบบไทย เราก็ไปอังกฤษกันคนละนานเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ และเราเห็นกันว่า
ผิดกาละเทศะ และรสนิยมต่ำมาก สำหรับรายการคลื่นสั้นออกกระจายเสียงพิเศษเนื่องในการ
เสด็จพระราชดำเนินที่สำคัญยิ่ง แต่เมื่อจบรายการแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กลับยิ้มย่องผ่องใส
พอใจคำพูดตนเองมาก

เวลานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าจัดให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้พบกับพวกนักเรียนไทยชั้นหัวกะทิที่อังกฤษ
สัก 10 คน ก็จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ที่ท่านให้เลิกการพบปะสังสรรค์นั้น
ก็พอเข้าใจได้ เพราะกว่าจะสิ้นหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนิน ก็เพลียไปตามๆกัน
และแล้วต่อมา สนทนากรรมการของสามัคคีสมาคมก็จัดการเชิญท่านมาอภิปราย
กับนักเรียนได้สำเร็จ ท่านเริ่มด้วยคำกล่าวนำอยู่หน่อยเดียว แล้วก็เชิญชวนให้ตั้งปัญหา
เมื่อไม่มีใครเอ่ยปาก ท่านก็ขู่เอา เล่นเอาข้าพเจ้าต้องตั้งกระทู้ประดังเข้าไป กลับได้แต้ม
ท่านว่า "ก็คุณมามัวหมกตัวอยู่เสียที่นี่ ไม่ช่วยเขียนหนังสือส่งไปให้ผม" เป็นเหตุให้สมาชิก
คนหนึ่งถามขึ้นว่า ถ้าส่งเรื่องไป จะลงพิมพ์ให้กระนั้นหรือ เพราะได้กิตติศัพท์มาว่าหนังสือ
ที่ท่านเป็นผู้อำนวยการอยู่นั้น มักเอาเรื่องคนนอกลงตะกร้าเสียนักต่อนักแล้ว ท่านตอบว่า
"ผมไม่ได้หมายความว่า ผมจะลงเรื่องให้ทุกคนที่ส่งไปให้ผม เมื่อกี้ผมพูดจำเพาะเจาะจง
ที่คุณสุลักษณ์ เพราะเห็นว่าเขียนหนังสือเป็น ไม่ใช่ว่าในที่นี้จะเขียนหนังสือเป็นกันทุกคน
เมื่อไหร่" ข้าพเจ้าถือว่าท่านให้พร เพราะแม้ข้าพเจ้าจะทน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ได้
ในหลายกรณีก็ตาม แต่ข้าพเจ้าถือว่า ในด้านวรรณกรรมแล้ว ยึดเอาท่านเป็นหลักได้

1 comment:

แปลภาษาฝรั่งเศส said...

ขอบคุณมากค่ะสำหรับข่าวสารข้อมูลอันเป็นประโยชน์


Powered By Blogger